แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เครื่องมือ แสดงบทความทั้งหมด

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้

   เครื่องมือจัดฟัน ถูกผลิตขึ้นมาจากวัสดุหลากหลายประเภทซึ่งมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป ทันตแพทย์จะแนะนำเครื่องมือจัดฟันให้กับคนไข้ตามความเหมาะสมในแต่ละเคส หากฟันของคนไข้มีอาการผิดปกติไม่มาก อาจได้รับคำแนะนำให้ใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้เพื่อเคลื่อนฟันหรือเคลื่อนขากรรไกรล่างให้ปรับเรียงตัวฟันเฉพาะบางซี่หรือบางตำแหน่งเท่านั้น


   เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้มีข้อดีตรงที่คนไข้สามารถถอดออกและใส่ได้เอง โดยถอดเครื่องมือออกมาทั้งชิ้นเวลารับประทานอาหาร ช่วยให้รับประทานอาหารได้สะดวก ไม่สร้างความเจ็บปวดให้กับช่องปาก ช่วยให้บดเคี้ยวอาหารได้ละเอียดขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ทำความสะอาดช่องปากและแปรงฟันได้สะดวก การจัดฟันด้วยเครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้จึงช่วยให้คนไข้ดูแลความสะอาดง่ายกว่าเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น ส่วนข้อเสียของการจัดฟันประเภทนี้ คือ การถอดเครื่องมือออกมาบ่อยเกินไปหรือละเลยไม่ใส่ให้สม่ำเสมอ ย่อมส่งผลให้การจัดฟันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และระยะเวลาที่วางแผนไว้

เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้

   มีหลายประเภท ดังนี้

   1. เครื่องมือจัดฟันถอดได้แบบช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกรเพื่อแก้ปัญหาคางยื่น อันเกิดจากขากรรไกรบนยื่นยาวกว่าปกติ แต่กระดูกขากรรไกรล่างกลับสั้นหรือยิ้มแล้วเห็นเหงือกหรือรูปหน้าเบี้ยว เครื่องมือแบบนี้เหมาะจะทำการจัดฟันเพื่อให้การเจริญเติบโตของขากรรไกรเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ เหมาะสำหรับคนไข้ช่วงวัยเด็กที่มีอายุ 8-12 ปี ซึ่งฟันแท้เริ่มขึ้นแล้ว แต่ยังมีฟันกรามน้ำนมอยู่
 
   2. เครื่องมือจัดฟันถอดได้แบบใช้อยู่ในวงจำกัด เหมาะสำหรับการเคลื่อนฟันเล็กน้อยให้ฟันห่างเข้ามาชิดกันหรือเคลื่อนเป็นบางซี่เพื่อแก้ไขความผิดปกติที่ไม่ยุ่งยาก เช่น ขยายฐานขากรรไกร เมื่อขยายฐานเสร็จแล้วจึงใส่เครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่นเพื่อให้ได้ผลการจัดฟันที่ดี ทำให้ฟันเรียงตัวสมบูรณ์ ตลอดจนการสบฟันถูกต้อง ทำให้บดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
   3. เครื่องมือคงสภาพฟันภายหลังการจัดฟันหรือเรียกว่ารีเทนเนอร์ เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อคงสภาพการเรียงตัวของฟัน ใช้เมื่อหลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันกลับคืนสู่สภาพเดิม จนกว่าเหงือกจะมีสุขภาพดีและปรับตัวได้ ช่วยควบคุมให้ฟันเรียงตัวอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมสวยงาม
 
   ระหว่างการจัดฟัน ควรดูแลความสะอาดฟันและรักษาอุปกรณ์การจัดฟันแบบถอดได้อย่างถูกวิธีเพื่อสุขอนามัยที่ดีและฟันให้คงสภาพดี ทุกครั้งที่ถอดเครื่องมือต้องล้างน้ำสะอาดและใช้แปรงสีฟันแปรงชิ้นวัสดุจัดฟันแบบถอดได้ ก่อนเช็ดล้างเก็บให้ในภาชนะมิดชิด
 
   วิธีการดูแลรักษารีเทนเนอร์ชนิดถอดได้ เวลากินอาหารควรตัดแบ่งเป็นชิ้นให้พอดีคำ รวมทั้งไม่ควรกัดของแข็งกรอบ หรืออาหารที่เหนียว ไม่ควรเล่นหรือใช้ลิ้นดันรีเทนเนอร์ในปากไปมาจนหลวมหรือหลุดออกตัวฟันได้ ทำให้ต้องกลับไปติดเครื่องมือใหม่ ทั้งเสียเวลาและค่าใช้จ่าย
 
   วิธีการถอดเครื่องมือที่ถูกต้อง เวลาถอดให้ใช้นิ้วเกี่ยวลวดที่อยู่บริเวณฟันกรามหรือขอบของฐานอะคริลิก ไม่ควรใช้นิ้วดึงลวดที่วางพาดบนฟันหน้าซึ่งเสี่ยงที่ลวดบอบบางจะบิดเบี้ยวและหักได้ เมื่อถอดรีเทนเนอร์แล้วให้ทำความสะอาดด้วยแปรงสีฟันธรรมดาและน้ำสบู่
 
   หากมีคราบหินปูนสะสมบนรีเทนเนอร์อาจใช้ยาเม็ดฟู่สำหรับทำความสะอาดฟันปลอม หรือแช่ในน้ำส้มสายชูเจือจางและนำใส่กล่องเก็บทันที ห้ามแช่ในน้ำร้อน หรือน้ำยาบ้วนปากเด็ดขาด เพียงเท่านี้ก็สามารถถนอมอุปกรณ์จัดฟันได้แล้ว ในกรณีที่รีเทนเนอร์ชำรุด หรือหายควรรีบทำใหม่เพื่อให้ใช้งานได้ทันท่วงทีก่อนที่ฟันจะเคลื่อนกลับไปเป็นสภาพเดิม